Mitsubishi Electric E-Newsletter issue 1/2021

ระยะการติดตั้งของ Condensing Unit ของเครื่องปรับอากาศ
แบบ Side flow

ในการออกแบบระบบปรับอากาศซึ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดก็คือ การคำนวณหาขนาดทำความเย็น เพื่อจะเลือกขนาดของเครื่องปรับอากาศได้เหมาะสม แต่ถ้าเรานำเครื่องปรับอากาศที่เลือกมา ไปติดตั้งไม่เหมาะสมจะส่งผลให้เครื่องปรับอากาศทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการติดตั้ง Condensing Unit ที่ไม่สามารถระบายความร้อนได้ดี

ฉบับนี้เราจะมาแนะนำระยะการติดตั้งของ Condensing Unit ของเครื่องปรับอากาศแบบ Side flow กันก่อน เพื่อให้เราสามารถเว้นระยะที่เครื่องต้องการและจะทำให้เครื่องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

เรามาเริ่มต้นที่กรณีติดตั้งชุด Condensing Unit เพียงชุดเดียว

จากรูปจะสรุปได้ดังนี้
  1. ระยะด้านข้าง CDU (ด้านท่อน้ำยาเข้า) ต้องการะยะอย่างน้อยไม่น้อยกว่า 350 มม.
  2. ระยะด้านข้าง CDU (ไม่ใช่ด้านท่อน้ำยาเข้า) ต้องการระยะอย่างน้อยไม่น้อยกว่า 100 มม.
  3. ระยะด้านหน้า CDU ต้องการระยะอย่างน้อยไม่น้อยกว่า 200 มม.
  4. ระยะด้านหลัง CDU ต้องการระยะอย่างน้อยไม่น้อยกว่า 100 มม.
  5. ระยะด้านบน CDU ต้องการพื้นที่เปิดโล่งหรือระยะอย่างน้อยไม่น้อยกว่า 100 มม. (กรณีเมื่อด้านหน้าและด้านข้างของ CDU เปิดโล่ง)
จะเห็นว่าระยะต่างๆที่กำหนดนั้น นอกจากจะเว้นระยะไว้เพื่อช่วยเรื่องระบายอากาศแล้ว ระยะที่เว้นนั้นยังช่วยเรื่องการบริการตัวเครื่องด้วย

กรณีติดตั้งชุด Condensing Unit หลายชุด

  • ติดตั้ง Condensing Unit เรียงกัน 3 ชุด ด้านหน้าและด้านข้าง 2 ด้านเปิดโล่งจะต้องเว้นระยะด้านหลัง Condensing Unit ไม่น้อยกว่า 300 mm.
  • ติดตั้ง Condensing Unit มากกว่า 3 ชุด ด้านหน้าและด้านข้าง 2 ด้านเปิดโล่งจะต้องเว้นระยะด้านหลัง Condensing Unit ไม่น้อยกว่า 300 mm. ต้องเว้นระยะห่าง Condensing Unit ตัวที่ 3 กับตัวที่ 4 เป็นระยะ 1,500 mm. และระยะด้านบนเว้นระยะ 1,500 mm
  • ติดตั้ง Condensing Unit เรียงกัน 3 ชุด ด้านหลังและด้านข้าง 2 ด้านเปิดโล่ง ด้านหน้ามีผนังกั้น ต้องมีระยะเว้นด้านหน้าจากผนังเป็นระยะ 1,500 mm.
  • ติดตั้ง Condensing Unit เรียงกัน 3 ชุด ด้านข้างเปิดโล่งทั้ง 2 ด้าน ด้านหน้าและด้านหลังมีผนังกั้น ต้องเว้นระยะห่างด้านหลังเป็นระยะ 500 mm. และเว้นระยะด้านหน้าเป็นระยะ 1,500 mm.
  • ติดตั้ง Condensing Unit แบบหันหน้าชน ด้านข้าง 2 ด้านและด้านหน้าเปิดโล่ง จะต้องเว้นระยะห่างของ Condensing Unit ที่หันหน้าชนกันเป็นระยะ 2,000 mm. และเว้นระยะห่างด้านหลัง Condensing Unit กับผนังเป็นระยะ 150 mm. และเว้นระยะห่างระหว่างด้านหลังของ Condensing Unit ที่ชนกันเป็นระย 600 mm.
  • ติดตั้ง Condensing Unit แบบเรียงกัน 3 ชุดและหันหน้าชน ด้านข้าง 2 ด้านและด้านหน้าเปิดโล่ง จะต้องเว้นระยะห่างของ Condensing Unit ที่หันหน้าชนกันเป็นระยะ 3,000 mm. และเว้นระยะห่างด้านหลัง Condensing Unit กับผนังเป็นระยะ 500 mm. และเว้นระยะห่างระหว่างด้านหลังของ Condensing Unit ที่ชนกันเป็นระยะ 600 mm.
  • ติดตั้ง Condensing Unit แบบซ้อนเครื่องกันด้านบน 2 เครื่อง ด้านหน้าและด้านข้างทั้ง 2 ด้านเปิดโล่ง จะต้องเว้นระยะด้านหลัง Condensing Unit เป็นระยะ 800 mm. และเว้นระยะด้านบน Condensing เป็นระยะ 150 mm. และต้องเว้นระยะห่าง Condensing Unit ตัวที่ 2 กับชุดถัดไปเป็นระยะ 1,500 mm.

** รูปแบบของการติดตั้งนี้ ผนังกำแพงที่ระบุในรูปภาพต่างๆ ต้องเป็นไปตามตำแหน่งจริงในการติดตั้ง

จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่าการติดตั้ง Condensing Unit มีโอกาสจะติดตั้งได้หลายรูปแบบ ซึ่งตามที่เราแนะนำไปน่าจะเป็นรูปแบบที่นิยมติดตั้งกันมากที่สุด แต่ปัจจุบันการติดตั้ง Condensing Unit นั้นจะโดนกำจัดด้านพื้นที่โดยเฉพาะงานประเภทอาคารคอนโดมิเนียม เพราะอาคารประเภทนี้ต้องการลดพื้นที่ในการติดตั้ง Condensing Unit ให้น้อยที่สุด ซึ่งจากที่เราเคยเจอมาจะยกตัวอย่างมาให้เป็นกรณีศึกษาสัก 1 โครงการ

จากรูปเป็นการติดตั้ง Condensing Unit แบบ Side Flow ที่บริเวณระเบียงของห้องพักที่อาคารคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง จะเห็นได้ว่าผนังด้านหลังและผนังด้านข้าง 1 ด้านเป็นผนังปิด ส่วนด้านหน้าและด้านข้างอีก 1 ด้านเป็นผนังเปิดเป็นแบบซี่ๆ ซึ่งผนังด้านนึงสามารถเปิดได้เพื่อให้เข้าไปบริการตัวเครื่อง ทำให้ทุกด้านไม่มีด้านใดเป็นพื้นที่เปิดโล่งเลย และระยะด้านหน้าของตัวเครื่องมีระยะเว้นว่างน้อยกว่า 200 mm. จะเห็นได้ว่าการติดตั้งแบบนี้จะไม่ตรงคู่มือแนะนำการติดตั้งเลย ถ้าเราฝืนใช้งานในการติดตั้งแบบนี้จะทำให้เครื่องปรับอากาศมีโอกาสเสียหายได้ เพราะลมร้อนที่ออกจากเครื่อง จะไม่สามารถถูกระบายออกจากบริเวณที่ติดตั้งได้
ทางโครงการจึงได้มาขอคำปรึกษากับทางบริษัทฯว่าถ้ามีความจำเป็นจะต้องติดตั้ง Condensing Unit ในรูปแบบนี้จะสามารถทำได้ไหม ทางบริษัทฯจึงได้ทำการจำลองการระบายลมร้อนด้วยโปรแกรม Air Flow Analysis ซึ่งผลออกมานั้นเป็นไปตามที่คาดคือ ลมร้อนไม่อาจจะสามารถระบายออกจากบริเวณดังกล่าวได้ ทำให้บริเวณนั้นมีอุณหภูมิสูงมากกว่า 52 องศาเซสเซียส ซึ่งสูงกว่าอุณหภูมิที่เครื่องสามารถทำงานได้ จึงเสี่ยงต่อการที่เครื่องจะหยุดการทำงานได้ (หยุดการทำงานจากอุปกรณ์ High pressure switch ตัดการทำงานของ Condensing Unit)
ทางบริษัทฯจึงได้ทำการจำลองการระบายลมร้อนใหม่ด้วยการติดตั้ง Hood สำหรับบังคับทิศทางลมร้อนที่บริเวณด้านหน้าของ Condensing Unit ด้วยเหตุผล 2 อย่างคือ 1. บังคับลมร้อนให้ออกจากพื้นที่ เพราะโดยปกติการระบายลมร้อนออกจาก Condensing Unit จะเป็นระบายแบบกระจายลมแต่ถ้าเราติดตั้งชุด Hood บังคับจะทำงานให้ลมร้อนที่กระจายออกจะถูกบังคับให้ออกตามจุดที่เราต้องการให้ระบายออกและลมร้อนจะไม่กระจายไปจุดอื่นๆ เหตุผลที่ 2 คือต้องการแยกลมร้อนที่ระบายออกกับลมเย็นที่จะถูกดูดเข้ามาเพื่อระบายความร้อนออกจาก Condensing Unit การติดตั้ง Hood ช่วยให้ลมเย็นที่จะถูกดูดมาไม่ถูกลมร้อนที่เพิ่งระบายออกไป มาผสมและทำให้ลมที่ถูกดูดเข้ามามีอุณหภูมิสูงขึ้นไปด้วย
ซึ่งผลการจำลองการระบายลมร้อนด้วยโปรแกรม Air Flow Analysis ผลออกมาว่าการติดตั้ง Hood ระบายลมร้อนจะช่วยให้ลมร้อนนั้นจะถูกระบายออกจากบริเวณที่ติดตั้งได้ดียิ่งขึ้น ทำให้อุณหภูมิบริเวณที่ติดตั้งมีอุณหภูมิต่ำกว่า 52 องศาเซสเซียสและทำให้ Condensing Unit ทำงานได้อย่างปกติ
เมื่อผลการจำลองออกมาเป็นที่น่าพอใจ ทำให้ทางโครงการเลือกจะติดตั้งตามรูปแบบที่ทางบริษัทฯแนะนำซึ่งเมื่อติดตั้งเสร็จแล้วทางบริษัทฯได้เข้าไปเก็บข้อมูลการทำงานของ Condensing Unit ซึ่งได้ผลใกล้เคียงกับการจำลองด้วยโปรแกรมไป

ด้วยประสบการณ์ในโครงการต่างๆที่ผ่านมา ทำให้ทางบริษัทฯมี Solution ต่างๆในการแก้ปัญหาให้แต่ละโครงการที่เจอปัญหาต่างๆมากมาย ซึ่งแต่ละโครงการจะมีแนวทางในการแก้ปัญหาแตกต่างกันไป ทางบริษัทฯจึงขอแนะนำว่าข้อมูลที่ทางบริษัทฯแนะนำไปนั้น อาจจะไม่ตอบโจทย์ปัญหาทุกโครงการ ทางบริษัทฯจึงมีความยินดีที่จะร่วมให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาต่างๆเกี่ยวกับระบบปรับอากาศและระบบระบายอากาศให้แก่โครงการของท่าน เพื่อให้โครงการของท่านเกิดประโยชน์สูงสุดในการเลือกใช้สินค้าของทางบริษัท

ท่านสามารถติดต่อได้ที่ ฝ่ายขายระบบปรับอากาศโครงการ เพื่อ Support ให้กับทีมงานโครงการของท่านได้
โทร 02-763-7000 ต่อ 5219